หมวดที่ 4 : การดำเนินงาน

ข้อบังคับสหกรณ์

ข้อ 9 การดำเนินงาน : การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์

การลงลายมือชื่อเพื่อให้มีผลผูกพันสหกรณ์ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นพิเศษตามข้อบังคับนี้ ให้ปฏิบัติดังนี้

  1. หนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม ตลอดจนการเบิก หรือรับเงินกู้ การจำนองซึ่งสหกรณ์เป็นผู้จำนอง การถอนเงินฝากของสหกรณ์ และในนิติกรรมอื่น ๆ จะต้องลงลายมือชื่อของประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ หรือเหรัญญิก หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายหรือผู้จัดการ ร่วมกันลงลายมือชื่อไม่น้อยกว่าสองคน
  2. การรับฝากเงิน ใบรับเงิน และเอกสารทั้งปวง นอกจากที่กล่าวไว้ใน (1) ข้างบนนี้ จะต้องลงลายมือชื่อของประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ หรือเหรัญญิก หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้จัดการ คนใดคนหนึ่ง

อนึ่งในหนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืมเช็คใบสั่งจ่ายเงินใบรับเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน และตราสารการเงินของสหกรณ์นั้นต้องประทับตราของสหกรณ์เป็นสำคัญด้วย

ข้อ 10 วงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกัน

ที่ประชุมใหญ่อาจกำหนดวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีหนึ่ง ๆ ไว้ตามที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินงาน วงเงินซึ่งกำหนดดังว่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

ถ้าที่ประชุมใหญ่ยังมิได้กำหนด หรือนายทะเบียนสหกรณ์ยังมิได้ให้ความเห็นชอบวงเงินกู้ยืมสำหรับปีใด ก็ให้ใช้วงเงินกู้ยืมสำหรับปีก่อนไปพลาง

ข้อ 11 การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน

สหกรณ์อาจกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสารการเงินหรือโดยวิธีอื่นใดสำหรับใช้เป็นทุนดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรทั้งนี้จะต้องอยู่ภายในวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันประจำปีตามข้อ10

ข้อ 12 การรับฝากเงิน

สหกรณ์อาจรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์ หรือฝากประจำจากสมาชิกได้ตามระเบียบของสหกรณ์

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการฝาก ดอกเบี้ย การถอนเงินฝาก และข้อกำหนดอื่น ๆ ว่าด้วยเงินฝากออมทรัพย์ หรือเงินฝากประจำนั้นให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

ให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ข้อ 13 การให้เงินกู้

เงินกู้นั้นอาจให้ได้แก่

  1. สมาชิกของสหกรณ์
  2. สหกรณ์อื่น

การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ได้ตามข้อบังคับนี้ และตามระเบียบของสหกรณ์

ข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ หลักประกันสำหรับเงินกู้ลำดับแห่งการให้เงินกู้ เงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้ และข้อกำหนดอื่น ๆ ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

การให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่นนั้น คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาให้กู้ได้ต่อเมื่อสหกรณ์มีเงินทุนเหลือจากการให้เงินกู้แก่สมาชิกแล้ว โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ด้วย

สมาชิกหรือสหกรณ์อื่นซึ่งประสงค์จะขอกู้เงินจากสหกรณ์นี้ ต้องเสนอคำขอกู้เงินตามแบบและระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้

ข้อ 14 ความมุ่งหมายแห่งเงินกู้

เงินกู้ซึ่งให้แก่สมาชิกไม่ว่าประเภทใดๆจะให้ได้แต่เฉพาะเพื่อการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรให้คณะกรรมการดำเนินการสอดส่องและกวดขันการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้ตรงตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น

ข้อ 15 ประเภทและจำกัดแห่งเงินกู้

สหกรณ์อาจให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ตามประเภทและจำกัดดังต่อไปนี้

  1. เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน ในกรณีที่สมาชิกมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุอันจำเป็นรีบด่วน และมีความประสงค์ขอกู้เงิน คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้เพื่อเหตุนั้นได้ตามระเบียบของสหกรณ์
  2. เงินกู้สามัญ ในกรณีที่สมาชิกมีความประสงค์ขอกู้เงินสำหรับใช้จ่ายเงิน เพื่อการอันจำเป็น หรือมีประโยชน์ต่าง ๆ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกนั้นได้ตามระเบียบของสหกรณ์
  3. เงินกู้พิเศษ เมื่อสหกรณ์มีฐานะการเงินก้าวหน้าพอที่จะช่วยเหลือให้เงินกู้ เพื่อส่งเสริมฐานะความมั่นคงหรือเพื่อการเคหะ หรือก่อประโยชน์งอกเงยแก่สมาชิกได้ โดยจำนวนเกินกว่าจำกัดที่สมาชิกนั้นอาจได้รับเงินกู้สามัญ (ตามที่กล่าวใน (2) ข้างบนนี้) คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกนั้นได้ตามที่เห็นสมควร โดยผู้ขอกู้ต้องระบุความมุ่งหมายแต่ละอย่างของเงินกู้ประเภทนี้ ตลอดจนเงื่อนไขและวิธีการ และต้องมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

ข้อ 16 ดอกเบี้ยเงินกู้

ให้สหกรณ์เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทที่ให้แก่สมาชิกในอัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

ข้อ 17 การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้

ให้คณะกรรมการดำเนินการตรวจตราควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่อง ผู้กู้จะต้องจัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

ในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเงินกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ เป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งดอกเบี้ยในทันที โดยมิพักต้องคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้ และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเรียกคืนโดยมิชักช้า

  1. เมื่อสมาชิกผู้กู้ออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ
  2. เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการดำเนินการว่าผู้กู้นำเงินกู้ไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
  3. เมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิด บกพร่อง และผู้กู้มิได้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
  4. เมื่อค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลาถึงสองเดือน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่งๆ

ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนผู้กู้ตามที่กล่าวในวรรคก่อนและไม่สามารถชำระหนี้นั้นโดยสิ้นเชิงได้เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอคณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันให้ผู้ค้ำประกันชำระเป็นงวดรายเดือนจนครบจำนวนตามที่ผู้กู้ได้ทำหนังสือกู้ให้ไว้ต่อสหกรณ์ก็ได้

ข้อ 18 ความผูกพันของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน

ผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันต้องรับผูกพันว่าถ้าตนประสงค์จะขอโอนหรือย้ายหรือลาออกจากราชการหรืองานประจำตามข้อ31(3)จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน(เว้นแต่กรณีที่ยังคงเป็นสมาชิกอยู่ตามข้อ43)

ข้อ 19 การฝากหรือลงทุนเงินของสหกรณ์

เงินของสหกรณ์นั้นอาจฝากหรือลงทุนได้ดังต่อไปนี้

  1. ฝากในชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น
  2. ฝากในธนาคารหรือฝากในสถาบันการเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์
  3. ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
  4. ซื้อหุ้นของธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์
  5. ซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น
  6. ซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวกหรือส่งเสริม ความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์ โดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
  7. ฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด

ข้อ 20 การบัญชีของสหกรณ์

วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ให้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

ให้สหกรณ์จัดให้มีการทำบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และเมื่อมีเหตุต้องบันทึกรายการในบัญชีเกี่ยวกับกระแสเงินสดของสหกรณ์ ให้บันทึกรายการในวันที่เกิดเหตุนั้น สำหรับเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสดให้บันทึกรายการในสมุดบัญชีภายในสามวัน นับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องบันทึกรายการนั้น

การบันทึกรายการบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สมบูรณ์โดยครบถ้วน

เมื่อสิ้นปีทางบัญชีทุกปี ให้สหกรณ์จัดทำงบดุลรวมทั้งบัญชีกำไรขาดทุนตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

ข้อ 21 การเสนองบดุลต่อที่ประชุมใหญ่

ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนองบดุล ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่ เพื่อพิจารณาอนุมัติภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี

การเสนองบดุล ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย

ให้สหกรณ์ส่งสำเนางบดุลที่เสนอต่อที่ประชุมใหญ่นั้นไปยังสมาชิกทุกคน และให้เปิดเผยไว้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ก่อนวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

ให้สหกรณ์ส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์กับงบดุลไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่

อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์กับงบดุลไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้

ข้อ 22 การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี

เมื่อสิ้นปีทางบัญชี หากปรากฏว่าสหกรณ์มีกำไรสุทธิ ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรตามความในวรรคก่อน ที่ประชุมใหญ่อาจจะจัดสรรได้ดังต่อไปนี้

  1. เป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วให้แก่สมาชิก แต่ต้องไม่เกินอัตรา ที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคิดให้ตามส่วนแห่งระยะเวลา อนึ่ง ถ้าสหกรณ์ถอนทุนรักษาระดับอัตรา เงินปันผลตาม (4) ออก จ่ายเป็นเงินปันผลสำหรับปีใดด้วย จำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นที่จ่ายสำหรับปีนั้น ก็ต้องไม่เกินอัตราดังกล่าวมาแล้ว ในการคำนวณเงินปันผลตามหุ้น ให้ถือว่าหุ้นที่สมาชิกได้ชำระต่อสหกรณ์ ภายในวันที่เจ็ดของเดือนมีระยะเวลาสำหรับคำนวณเงินปันผลตั้งแต่เดือนนั้น ส่วนหุ้นที่สมาชิกชำระต่อสหกรณ์หลังวันที่เจ็ดของเดือน สหกรณ์จะคิดเงินปันผลให้ตั้งแต่เดือนถัดไป
  2. เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิก ตามส่วนจำนวนรวมแห่งดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งสมาชิกนั้นๆ ได้ส่งแก่สหกรณ์ในระหว่างปี แต่สมาชิกที่ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าต้นเงิน หรือดอกเบี้ยในปีใดมิให้ได้รับเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีนั้น
  3. เป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ไม่เกินร้อยละสิบ ของกำไรสุทธิ
  4. เป็นทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผล ไม่เกินร้อยละสองแห่งทุนเรือนหุ้น ของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันสิ้นปีนั้น จนกว่าจะมีจำนวนถึงร้อยละแปดแห่งทุนเรือนหุ้นดังกล่าว ทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลนี้จะถอนได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ เพื่อจ่ายเป็นเงินปันผล ตามหุ้นตาม (1)
  5. เป็นทุนสาธารณประโยชน์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ทุนสาธารณประโยชน์นี้ ให้สหกรณ์สะสมไว้สำหรับใช้จ่ายเพื่อการศึกษาโดยทั่วไป หรือเพื่อการศึกษาอบรมทางสหกรณ์ หรือสาธารณประโยชน์ หรือการกุศลตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
  6. เป็นทุนเพื่อจัดตั้งสำนักงานหรือกองทุนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สหกรณ์
  7. เป็นทุนสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิตามระเบียบของสหกรณ์
  8. กำไรสุทธิส่วนที่เหลืออยู่ (ถ้ามี) ให้สมทบเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563

ข้อ 23 ที่มาแห่งทุนสำรอง

นอกจากจัดสรรจากกำไรสุทธิตามข้อ 22 แล้ว บรรดาเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้แก่สหกรณ์ ถ้าผู้ยกให้มิได้ระบุว่าให้ใช้เพื่อการใดโดยเฉพาะก็ให้สมทบเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น

อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งสหกรณ์พึงจ่ายแก่บุคคลใดก็ตาม ถ้าไม่มีการเรียกร้องจนพ้นกำหนดอายุความก็ให้สมทบจำนวนเงินนั้นเป็นทุนสำรอง

กำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเสนอแนะให้ที่ประชุมใหญ่จัดสรรตาม ข้อ 22 หากที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่ารายการใดไม่สมควรจัดสรรหรือตัดจำนวนให้น้อยลงก็ดี ยอดเงินจำนวนดังกล่าวให้สมทบเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น

ข้อ 24 สภาพแห่งทุนสำรอง

ทุนสำรองย่อมเป็นของสหกรณ์โดยส่วนรวม สมาชิกจะแบ่งปันกันไม่ได้ หรือจะเรียกร้องแม้ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ไม่ได้

ทุนสำรองนี้จะถอนได้ก็แต่เพื่อชดเชยการขาดทุนอันหากบังเกิดขึ้น

ข้อ 25 ทะเบียนและบัญชี

ให้สหกรณ์จัดให้มีทะเบียนสมาชิก ทะเบียนหุ้น และทะเบียนอื่น ๆ ตลอดจนสมุดรายงานการประชุม และบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด และตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรให้มีขึ้น

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนสมาชิกหรือทะเบียนหุ้น ให้สหกรณ์แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

สมาชิกอาจขอตรวจดูเอกสารดังกล่าวในวรรคก่อนได้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงาน แต่จะดูบัญชีหรือทะเบียนเกี่ยวกับเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินกู้ของสมาชิกรายอื่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของสมาชิกนั้น และได้รับอนุญาตจากผู้จัดการก่อน

ข้อ 26 กฎหมายและข้อบังคับ

สหกรณ์ต้องจัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการสหกรณ์ระเบียบข้อกำหนดและประกาศของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติซึ่งยังคงใช้อยู่รวมทั้งข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์นี้ไว้ณสำนักงานของสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกและผู้สนใจตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

ข้อ 27 การตรวจสอบบัญชี

บัญชีของสหกรณ์นั้นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างน้อยปีละครั้งโดยผู้สอบบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง

ข้อ 28 การกำกับดูแล

นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการอื่น ๆ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่และสมาชิกของสหกรณ์ มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมได้ ทั้งอาจเรียกและเข้าร่วมประชุมใหญ่ หรือประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ตลอดจนตรวจสอบสรรพสมุดบัญชี ทะเบียน เอกสาร และใบสำคัญต่าง ๆ ของสหกรณ์ได้

ทั้งนี้ ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องตามความในวรรคแรก อำนวยความสะดวกและชี้แจงข้อความในเรื่องเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ให้ทราบตามความประสงค์

ข้อ 29 การส่งรายการหรือรายงาน

ให้สหกรณ์ส่งรายการหรือรายงานเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลตามแบบและระยะเวลาที่หน่วยงานนั้นกำหนด