หมวดที่ 5 : สมาชิก

ข้อบังคับสหกรณ์

ข้อ 30 สมาชิก

สมาชิกสหกรณ์มีสองประเภท คือ สมาชิก และสมาชิกสมทบ

  1. สมาชิก ได้แก่ ผู้ลงชื่อขอจดทะเบียนสหกรณ์และผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชี รายชื่อ
    ซึ่งจะเป็นสมาชิกสหกรณ์และผู้ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ
  2. สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ประสงค์จะใช้บริการต่าง ๆ
    ของสหกรณ์เป็นการประจำและสหกรณ์พิจารณารับบุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกสมทบตามที่เห็นสมควร

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 31 คุณสมบัติของสมาชิก

สมาชิกต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. เป็นผู้เห็นชอบในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
  2. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
  3. เป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำสังกัดกรมที่ดิน หรือเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของสหกรณ์นี้
  4. เป็นผู้มีความประพฤติและนิสัยดีงาม
  5. มิได้เป็นสมาชิกในสหกรณ์ออมทรัพย์อื่น ที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน เว้นแต่ผู้ที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร

ข้อ 32 การเข้าเป็นสมาชิกและสมาชิกสมทบ

  1. การเข้าเป็นสมาชิก ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ รวมทั้งสมาชิก สหกรณ์ออมทรัพย์อื่นซึ่งประสงค์จะขอเข้าเป็นสมาชิกตามข้อ 36 ต้องยื่นใบสมัครถึงสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้ โดยต้องมีผู้บังคับบัญชาของผู้สมัครรับรอง แต่ถ้าผู้สมัครเป็นผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ ชำนาญการ/ชำนาญงานขึ้นไป ก็ไม่ต้องมีผู้รับรอง

    เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณา ปรากฏว่าผู้สมัครมี คุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31 (1) ทั้งเห็นเป็นการสมควรแล้ว ก็ให้รับเข้าเป็นสมาชิกได้ แล้วเสนอเรื่องการรับสมาชิกเข้าใหม่ให้ที่ประชุมใหญ่คราวถัดไปทราบ

    ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุใด ๆ เมื่อผู้สมัครร้องขอก็ให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด มติแห่ง ที่ประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกในกรณีดังว่านี้ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวน สมาชิกที่มาประชุม

  2. การเข้าเป็นสมาชิกสมทบ ผู้สมัครเป็นสมาชิกสมทบต้องยื่นใบสมัคร ถึงสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้ โดยต้องมีผู้บังคับบัญชาของผู้สมัครที่เป็นข้าราชการรับรอง

    เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาเห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้องตรงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31 (2) ก็ให้รับเข้าเป็นสมาชิกสมทบได้แล้วเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 33 ค่าธรรมเนียมแรกเข้า

ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือสมาชิกสมทบ จะต้องชำระ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าให้แก่สหกรณ์ คนละ 50 บาท

ค่าธรรมเนียมแรกเข้านี้ให้ถือเป็นรายได้ของสหกรณ์ จะเรียกคืนไม่ได้

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 34 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกและสมาชิกสมทบ

ผู้เข้าเป็นสมาชิกและสมาชิกสมทบต้องลงลายมือชื่อของตนในทะเบียนสมาชิก หรือสมาชิกสมทบกับชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าหุ้นตามจำนวนที่ถือให้ครบถ้วน เมื่อได้ปฏิบัติดังนี้แล้ว จึงจะถือว่าได้สิทธิในฐานะสมาชิกหรือสมาชิกสมทบ

สิทธิของสมาชิก มีดังนี้

  1. เข้าร่วมประชุมใหญ่ เพื่อเสนอความคิดเห็นหรือออกเสียงคะแนน
  2. เข้าชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ
  3. เสนอหรือได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ หรือผู้ตรวจสอบ กิจการสหกรณ์
  4. ได้รับบริการทางธุรกิจและทางวิชาการจากสหกรณ์
  5. สิทธิอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์

หน้าทิของสมาชิก มีดังนี้

  1. ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และมติของสหกรณ์
  2. ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง
  3. สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์
  4. ร่วมมือกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พัฒนาสหกรณ์ให้เจริญรุ่งเรือง

สำหรับสมาชิกสมทบมีสิทธิและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  1. ไม่มีสิทธิเป็นกรรมการสหกรณ์
  2. เข้าร่วมประชุมใหญ่ เพื่อเสนอความคิดเห็นแต่มิให้นับชื่อเข้าเป็น องค์ประชุมและไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
  3. ข้อกำหนดวิธีการให้บริการและอื่น ๆ ตลอดจนสวัสดิการและผลตอบแทนจากการใช้บริการให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ว่าด้วยสมาชิกสมทบ
  4. ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติและคำสั่งของสหกรณ์
  5. ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง
  6. สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 35 สมาชิกย้ายสังกัด

สมาชิกที่ย้ายหรือโอนไปรับราชการในสังกัดอื่นและประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งตั้งขึ้นในสังกัดนั้นหากสหกรณ์นั้นมีข้อบังคับให้รับเข้าเป็นสมาชิกได้และคณะกรรมการดำเนินการได้มีมติให้รับเข้าเป็นสมาชิกแล้วถ้าสมาชิกนั้นมีความประสงค์จะให้โอนเงินค่าหุ้นและเงินกู้ที่ตนมีอยู่ในสหกรณ์นี้ไปยังสหกรณ์ที่ตนได้ไปเข้าเป็นสมาชิกใหม่สหกรณ์ก็จะจัดการโอนเงินค่าหุ้นเงินกู้และเงินฝาก(ถ้ามี)ที่สมาชิกนั้นมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้ตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 36 การรับโอนสมาชิกสหกรณ์อื่น

สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นซึ่งย้ายหรือโอนมารับราชการในสังกัดตามข้อ 31 (1) (ค) หากประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ยื่นใบสมัครถึงสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 32 และจะได้สิทธิในฐานะสมาชิกตามข้อ 34 ตั้งแต่วันที่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิกกับได้ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เดิมได้โอนเงินค่าหุ้นให้สหกรณ์
นี้แล้ว

การรับโอนเงินค่าหุ้นและการปฏิบัติเกี่ยวกับหนี้สินที่มีอยู่ในสหกรณ์เดิมนั้น
ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 37 การเปลี่ยนแปลงชื่อ สัญชาติและที่อยู่ของสมาชิกและสมาชิกสมทบ

สมาชิกคนใดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องชื่อ สัญชาติและที่อยู่ ต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

สมาชิกสมทบคนใดมีการเปลี่ยนแปลงชื่อและที่อยู่ ต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 38 การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของสมาชิกและสมาชิกสมทบ

สมาชิกหรือสมาชิกสมทบจะทำเป็นหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคน เพื่อให้เป็นผู้รับโอนประโยชน์ซึ่งตนมีอยู่ในสหกรณ์
ในเมื่อตนตายนั้นมอบให้สหกรณ์ถือไว้ก็ได้ หนังสือตั้งผู้รับโอนประโยชน์ดังว่านี้ต้องทำตามลักษณะ
พินัยกรรม

ถ้าสมาชิกหรือสมาชิกสมทบประสงค์จะเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงการตั้งผู้รับ
โอนประโยชน์ที่ได้ทำไว้แล้วก็ต้องทำเป็นหนังสือตามลักษณะดังกล่าวในวรรคก่อนมอบให้สหกรณ์ถือไว้

เมื่อสมาชิกหรือสมาชิกสมทบตาย สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผล
เงินเฉลี่ยคืนและเงินผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจ
คณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ ตามข้อกำหนด
ในข้อ 44 วรรคแรก และข้อ 45

กรณีสมาชิกสมทบตายให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้น ยื่นคำขอรับเงิน
ผลประโยชน์ต่อสหกรณ์ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสมทบตาย โดยให้แนบสำเนามรณบัตรที่ทางราชการออกให้แสดงว่าสมาชิกสมทบนั้น ๆ ได้ถึงแก่ความตายประกอบการพิจารณาด้วย ในกรณี
ผู้มีสิทธิรับเงินผลประโยชน์ไม่ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์หรือผู้มีชื่อเป็นผู้รับโอนประโยชน์ที่สมาชิก
สมทบได้จัดทำให้สหกรณ์ถือไว้ไม่มีตัวตนอยู่ก็ดี เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องร้องคดี ให้สหกรณ์
โอนเงินดังกล่าวไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 39 การขาดจากสมาชิกภาพ

สมาชิกย่อมขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ตาย
  2. ลาออกจากสหกรณ์
  3. วิกลจริต
  4. ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย
  5. ถูกออกจากราชการ หรืองานประจำตามข้อ 31 (3) โดยมีความผิด
  6. ถูกให้ออกจากสหกรณ์

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 40 การลาออกจากสหกรณ์

สมาชิกผู้ไม่มีหนี้สินอยู่ต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันอาจลาออกจากสหกรณ์ได้โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่าเป็นการชอบด้วยข้อบังคับและอนุญาตแล้ว จึงให้ถือว่าออกจากสหกรณ์ได้

คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบหมายให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการสอบสวนพิจารณา หากเห็นว่าเป็นการชอบด้วยข้อบังคับ ก็ให้ถือว่าออกจากสหกรณ์ตามความในวรรคก่อนได้แล้วให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมคราวถัดไปทราบด้วย

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 41 การให้ออกจากสหกรณ์

สมาชิกอาจถูกให้ออกจากสหกรณ์เพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

  1. ไม่ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก หรือไม่ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือไม่ถือหุ้นครั้งแรกตามข้อ 34
  2. ขาดส่งเงินค่าหุ้นรายเดือนถึงสามงวดติดต่อกัน หรือขาดส่งรวมถึงหกงวด ทั้งนี้โดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการดำเนินการ
  3. นำเงินกู้ไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
  4. ไม่จัดการแก้ไขหลักประกัน สำหรับเงินกู้ ที่เกิดบกพร่องให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
  5. ค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงิน หรือดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลาถึง สองเดือนหรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่ง ๆ
  6. ไม่ให้ข้อความจริงเกี่ยวกับหนี้สินของตนแก่สหกรณ์เมื่อสมัครเข้าเป็น สมาชิก หรือเมื่อจะก่อความผูกพันในหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้ หรือผู้ค้ำประกัน หรือเมื่อมีความผูกพันในหนี้สินต่อสหกรณ์อยู่แล้ว
  7. จงใจฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบ หรือมติของสหกรณ์ หรือประพฤติการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์ไม่ว่าโดยประการใด ๆ

เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณา ปรากฏว่าสมาชิกมีเหตุใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้และได้ลงมติให้สมาชิกออก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนกรรมการดำเนินการที่อยู่ในที่ประชุมแล้ว ก็เป็นอันถือว่าสมาชิกนั้นถูกให้ออกจากสหกรณ์

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 42 การจำหน่ายชื่อสมาชิกออกจากทะเบียน

ในกรณีที่สมาชิกออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆให้คณะกรรมการดำเนินการจำหน่ายชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนแล้วเสนอเรื่องสมาชิกออกให้ที่ประชุมใหญ่สามัญคราวถัดไปทราบ

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 43 สมาชิกที่โอนหรือย้ายหรือออกจากราชการหรืองานประจำโดยไม่มีความผิด

สมาชิกที่โอนหรือย้ายหรือออกจากราชการหรืองานประจำข้อ31(3)โดยไม่มีความผิดเว้นแต่ออกเพราะตายหรือวิกลจริตหรือต้องคำพิพากษาให้ล้มละลายถ้ามิได้ลาออกจากสหกรณ์ด้วยก็ให้ถือว่าคงเป็นสมาชิกอยู่โดยมิต้องส่งเงินค่าหุ้นรายเดือนต่อไปอีกก็ได้สมาชิกเช่นว่านั้นอาจได้รับเงินกู้จากสหกรณ์ได้ตามระเบียบว่าด้วยเงินกู้ของสหกรณ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 44 การจ่ายคืนจำนวนเงินของสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพ

ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ 39 (1), (2), (3) นั้น สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ โดยเฉพาะค่าหุ้นนั้นผู้มีสิทธิได้รับจะเรียกให้สหกรณ์จ่ายคืนทันทีโดยไม่มีเงินปันผล หรือเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้น หรือจะเรียกให้จ่ายคืนหลังจากวันสิ้นปีที่ออกโดยได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้นด้วย ในเมื่อที่ประชุมใหญ่ได้มีมติให้จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีนั้นแล้วก็ได้ สุดแต่จะเลือก ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ ส่วนเงินฝากและดอกเบี้ยนั้น สหกรณ์จะจ่ายคืนให้ตามข้อกำหนดว่าด้วยการรับฝากเงินในข้อบังคับนี้ และในระเบียบสหกรณ์

ถ้าในปีใด จำนวนค่าหุ้นที่ถอนคืน เนื่องจากสมาชิกขาดสมาชิกภาพจะเกินร้อยละสิบแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันต้นปีนั้น คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจให้รอการจ่ายคืนค่าหุ้นของสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพรายต่อไปในปีนั้นไว้จนถึงปีทางบัญชีใหม่ แต่เฉพาะสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพ เนื่องจากตนได้โอน หรือย้าย หรือออกจากราชการหรืองานประจำตามข้อ 31 (3) โดยไม่มีความผิดนั้นคณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันเป็นพิเศษ

ในกรณีที่สมาชิกขาดสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ 39 (4) สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้นเงินรับฝาก เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืน กับดอกเบี้ยค้างจ่าย บรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ตามกฎหมายล้มละลาย

ในกรณีที่สมาชิกขาดสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ 39 (5), (6) นั้น สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน กับดอกเบี้ยค้างจ่าย บรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ภายในเวลาอันสมควร โดยไม่มีเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนตั้งแต่ประจำปีที่ออกจากสหกรณ์ หรือหากสมาชิกขอให้จ่ายค่าหุ้นภายหลังวันสิ้นปี โดยขอรับเงินปันผลในปีนั้น ภายหลังที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีก็ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ ส่วนเงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้น สหกรณ์จะจ่ายให้ตามข้อกำหนดว่าด้วยการรับฝากเงินในข้อบังคับนี้ และในระเบียบของสหกรณ์

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 45 การหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกและสมาชิกสมทบต้องรับผิดต่อสหกรณ์

ในการจ่ายคืนจำนวนเงินดังกล่าวในข้อ 44 นั้น สหกรณ์มีอำนาจหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกหรือสมาชิกสมทบ
ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ออกก่อน

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553

ข้อ 46 ความรับผิดของสมาชิกและสมาชิกสมทบ

สมาชิกต้องรับผิดเพื่อหนี้สินของสหกรณ์จำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2553