หมวดที่ 9 : ข้อเบ็ดเสร็จ

ข้อบังคับสหกรณ์

ข้อ 77 ระเบียบของสหกรณ์

ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจกำหนดระเบียบต่างๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งข้อบังคับนี้ และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน ของสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้

  1. ระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ
  2. ระเบียบว่าด้วยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ
  3. ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินจากนิติบุคคล
  4. ระเบียบว่าด้วยเงินกู้สามัญและเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน
  5. ระเบียบว่าด้วยเงินกู้พิเศษ
  6. ระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์
  7. ระเบียบว่าด้วยการใช้ทุนสาธารณประโยชน์
  8. ระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน
  9. ระเบียบว่าด้วยการใช้ทุนสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว
  10. ระเบียบอื่น ๆ ที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรกำหนดไว้ให้มี เพื่อสะดวกและเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสหกรณ์

เฉพาะระเบียบข้อ (1) ข้อ (2) และข้อ (3) ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์เสียก่อนจึงจะใช้บังคับได้ ส่วนระเบียบอื่นเมื่อคณะกรรมการดำเนินการกำหนดใช้แล้ว
ให้ส่งสำเนาให้นายทะเบียนสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบ

แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563

ข้อ 78 การดำเนินคดีเกี่ยวกับความเสียหาย

ในกรณีที่ทรัพย์สินของสหกรณ์ถูกยักยอก หรือเสียหายโดยประการใด ๆ หรือในกรณีที่สหกรณ์เรียกคืนเงินกู้ตามข้อ 77 (3) และ (4) แห่งข้อบังคับนี้ แต่มิได้รับชำระตามเรียกก็ดี คณะกรรมการดำเนินการต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ

ข้อ 79 การตีความในข้อบังคับ

ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการตีความในข้อบังคับข้อใด ให้สหกรณ์ขอคำวินิจฉัยจากนายทะเบียนสหกรณ์และถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น

ข้อ 80 การแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนใช้ข้อบังคับ

สหกรณ์อาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนใช้ข้อบังคับได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุมและให้สหกรณ์ขอจดทะเบียนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนใช้ข้อบังคับนั้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนใช้ข้อบังคับนั้นจึงเป็นอันสมบูรณ์

คณะกรรมการดำเนินการจะเสนอวาระแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับต่อที่ประชุมใหญ่ได้ ต่อเมื่อได้พิจารณาเรื่องนั้นในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และที่ประชุมมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่มาประชุม อนึ่ง สมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าห้าสิบคนอาจลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการก่อนสามสิบวันที่จะถึงกำหนดการประชุมใหญ่ เพื่อขอให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับก็ได้ โดยต้องระบุข้อความที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นพร้อมด้วยเหตุผล

ข้อ 81 การจำหน่ายทรัพย์สินเมื่อสหกรณ์ต้องเลิก

เมื่อสหกรณ์ต้องเลิก และได้จัดการชำระบัญชีโดยจำหน่ายทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดทั้งจ่ายคืนเงินรับฝากพร้อมด้วยดอกเบี้ย และชำระหนี้สินอื่น ๆ ของสหกรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใด ให้ผู้ชำระบัญชีจ่ายตามลำดับดังต่อไปนี้

  1. จ่ายคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
  2. จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ไม่เกินอัตราที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ
  3. จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามข้อ 22 (2) เงินที่จ่ายตามข้อ (2) และ (3) เมื่อรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินยอดรวมแห่งจำนวน เงินกำไรสุทธิที่สหกรณ์หาได้ในระหว่างปีที่เลิกสหกรณ์กับทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลที่ถอนไปตามข้อ 22 (4) ในปีนั้น

ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่อีกให้โอนให้แก่สหกรณ์อื่น หรือสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามมติของที่ประชุมใหญ่ หรือด้วยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ ในกรณีที่ไม่อาจเรียกประชุมใหญ่ได้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จ

ข้อ 82 ในกรณีที่ข้อบังคับนี้มิได้กำหนดข้อความเรื่องใดไว้

ให้สหกรณ์รับบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดจนคำสั่งและระเบียบปฏิบัติของนายทะเบียนสหกรณ์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งแห่งข้อบังคับนี้ด้วย

ข้อ 83 นับแต่วันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ

ระเบียบซึ่งสหกรณ์ใช้ปฏิบัติอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับและไม่ขัดกับข้อบังคับนี้ ให้ยังคงถือปฏิบัติอยู่ต่อไป จนกว่าสหกรณ์จะได้แก้ไขเป็นอย่างอื่น

ที่ประชุมใหญ่สามัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกรมที่ดิน จำกัด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 ได้ลงมติให้เปลี่ยนใช้ข้อบังคับข้างต้นนี้แทนข้อบังคับเดิมซึ่งเป็นอันยกเลิกทั้งสิ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์ได้รับจดทะเบียนให้แล้ว